จากวันวิสาขบูชา สู่การค้นหาดวงชะตาของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 1 | โพสต์ 24 ต.ค.56 13:07 น. : อ่าน 6264 |
บทความเก่า เขียนไว้ที่อื่นหลายปีแล้ว เอามารวมไว้ที่นี่ด้วย จะได้ไม่สูญหาย
แต่เดิมข้าพเจ้าก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะไปสืบค้นหาเรื่องดวงของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด เพราะก็เห็นว่ามีข้อมูลที่นำเสนอมาอยู่หลายดวงแตกต่างกันไป ยังหาความแน่นอนอะไรมิได้ อีกทั้งโปรแกรมที่พัฒนาแต่เดิมก็ไม่สามารถผูกดวงย้อนหลังไปได้ขนาดนั้น เนื่องจากโปรแกรมไปอ้างอิงตามระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งมีระบบปฏิทินอัตโนมัติย้อนหลังไปถึงแค่เพียงปี คศ. 1600 กว่าเท่านั้น
แต่ในเมื่อเริ่มมีผู้ถามมาทั้งในเวบ Payakorn.com และในเวบโหราศาสตร์อื่น ทำให้จึงต้องกลับมาดู ซึ่งที่จริงหากจะผูกดวงวิเคราะห์ก็สามารถใช้โปรแกรม SolarFire ผูกดวงย้อนหลังไปตรวจสอบก็ได้ แต่ก็รู้สึกไม่ถนัด เพราะมันไม่คุ้นเคยกับรูปดวง จึงต้องกลับมาแก้โปรแกรมให้สามารถคำนวณย้อนหลังไปได้ เพื่อที่จะได้ตรวจสอบตามภาพดวงยูเรเนียนแบบไทยๆ ที่คุ้นเคยมากกว่า ใช้เวลาไป 2 วันก็พอจะได้คำตอบเกี่ยวกับดวงของพระพุทธเจ้าออกมาได้ ซึ่งก็ไม่ตรงกับข้อมูลที่เผยแพร่กันอยู่สักเท่าไร จึงขอนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ไปตรวจสอบกันต่อไป
1. วันวิสาขบูชา คือวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน เป็นเดือนเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ อันนี้คือสิ่งที่เรารับรู้กันโดยทั่วไป หากอธิบายในเชิงดาราศาสตร์ก็คือวันที่ตำแหน่งของดวงอาทิตย์และจันทร์จะเล็งกัน(ทำมุม 180 องศาต่อกัน) โดยที่ตำแหน่งของจันทร์จะสถิตย์ในขอบเขตของกลุ่มดาวฤกษ์วิสาขะ(จันทร์มีค่าสัมผุสระหว่าง 20 องศาราศีตุล ถึง 3:20 ราศีพิจิก) จึงได้ชื่อว่าวันวิสาขบูขา นั่นเอง ตรงนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่เราจะสามารถดวงกำเนิด ตรัสรู้ และนิพพาน ได้
2. อีกอย่างคือ ตามข้อมูลที่ทราบอีกอย่างคือ ปีที่ทรงปรินิพพาน ถือเป็นปีพุทธศักราชที่ 1 (เหตุเกิดที่ พ.ศ.1) ตรงนี้อาจมีผู้แย้งว่าค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าอาจจะไม่ใช่ก็ได้ อันนี้ก็แล้วแต่ ยังไม่ได้ขัดแย้งแต่อย่างใด เพียงแต่ ณ ขณะนี้ จะขอใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการสืบค้นไปก่อน แล้วจะอธิบายในตอนหลังอีกที
สรุปคือหากในทางดาราศาสตร์ หากวันใดๆ ตรงตามเงื่อนไข ทั้ง 2 ข้อนี้ ถือว่าน่าจะเป็นข้อมูลที่ใช้ได้ เพื่อที่จะนำไปพิสูจน์ต่อในเชิงโหราศาสตร์(หากพูดถึงยูเรเนียนอาจบอกว่า ตรวจสอบโครงสร้างพระเคราะห์สนธิ ว่าสอดคล้องหรือไม่)
ยังมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอีกอย่างคือ ระบบราศีจักรที่จะใช้ ในการตรวจสอบสมมุติฐานข้อ 1 จะใช้อันไหน ระหว่าง Sideral(นิรายนะ) หรือ Tropical(สายนะ) ซึ่งตรงนี้ข้าพเจ้าก็เห็นว่า น่าจะใช้ระบบ Sideral Zodiac(นิรายนะ) เพราะถือเป็นหลักโดยทั่วไปที่ใช้ในปฏิทินจันทรคติอยู่แล้ว หมายถึงว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอย่างไร ท้องฟ้าไม่เคยเปลี่ยน เพราะดาวฤกษ์ไม่เคลื่อนที่ ซึ่งหากเป็น Tropical Zodiac แล้ว ราศีจะเคลื่อนไปเรื่อยๆ ปีละประมาณ 51 ลิปดา ซึ่งเราเรียกว่า อยนางศ์(Precession) ซึ่งค่าเปลี่ยนแปลงนี้จะค่อนข้างคงที่มาก (เกิดจากการส่ายของแกนโลกเป็นลูกข่าง)
ปัจจุบันมีค่า Precession ประมาณ 24 องศา เมื่อคำนวณย้อนหลังไปสมัยพุทธกาล ค่า Precession จะมีค่าเป็น -13 องศา (ต่างจากปัจจุบันประมาณ 47 องศา) หมายถึงว่าหากค่าองศาอาทิตย์แบบ Tropical เท่ากับ 17 องศาราศีเมษ ค่าองศาของอาทิตย์แบบ Sideral จะเท่ากับ 30 องศาราศีเมษ
อาจทดสอบดูโดยลองใช้โปรแกรม Solarfire ตั้งดวงวันที่ 15 Apr 0623 BC ดูแล้วสลับโหมดระหว่าง Tropical กับ Sideral จะเข้าใจมากขึ้น
หากสมมุติฐานดังกล่าวใช้ได้แล้ว เราก็สามารถใช้โปรแกรมช่วยคำนวณหาวันที่ ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน ได้ดังนี้
ประสูติ 15 Apr 0623 BC We 15/04/-79 11:20 Lumbini, Nepal 83E06,27N08,5.75,0
ตรัสรู้ 18 Apr 0588 BC Su 18/04/-44 05:00 Gaya, India 85E0,24N47,5.5,0
ปรินิพพาน 1 Apr 0543 BC Th 01/04/1 05:14 Kusinara, India 83E24,26N45,5.5,0
จากข้อมูลวันที่ดังกล่าว เราจะได้วันประสูติและตรัสรู้ เป็นไปตามเงื่อนไขของวิสาขะ ส่วนวันปรินิพพานนั้น หากนับในดวงปูรณมี จะมีองศาของจันทร์หย่อนลงไปเล็กน้อย ซึ่งก็คิดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่พอจะรับได้ ซึ่งหากปรับเวลามาเป็น ช่วงค่ำของวันที่ 1 Apr องศาของจันทร์ก็จะเข้าสู่ฤกษ์วิสาขะ เช่นกัน
สำหรับสถานที่และ เวลาที่มัน Exactly จริงๆ ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบ เพียงแต่กำหนดเวลาไว้คร่าวๆ ก่อนเท่านั้นเอง แต่ภาพของโครงสร้างพระเคราะห์สนธิโดยรวม ก็ยังคงจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
สำหรับการวิเคราะห์หากเมื่อเราได้วันที่มาแล้ว หากจะเปลี่ยนมาเป็นระบบ Tropical Zodiac เพื่อวิเคราะห์ตามหลักโหราศาสตร์สากล หรือ ยูเรเนียน ก็ไม่ได้ผิดกติกาใดๆ
ขอให้ข้อมูลทางดาราศาสตร์ไว้เบื้องต้นเพียงเท่านั้น เพื่อที่จะได้มาวิเคราะห์กันต่อไปในเชิงของโหราศาสตร์ต่อไป ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ยากแล้ว
หมายเหตุ ผลคำนวณของโปรแกรม Solarfire กับ Uranus มีค่าองศาอาทิตย์ต่างกันประมาณ 10 กว่าลิปดา แต่ก็ถือว่ามีความคลาดเคลื่อนที่พอจะรับได้ ซึ่งน่าจะมาจากการคำนวณการปรับเวลามีความต่างกันอยู่เล็กน้อย
อนึ่ง สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ว่าอาจมีระยะเวลาเคลื่อนกันกว่า 60 ปีนั้น ก็อาจเป็นไปได้ แต่เราก็ควรยึดถือสมมุติฐานเดิมไว้ อาจจะค้นหาวันที่ใหม่ ก็ทำได้โดยคำนึงถึงวงรอบสำคัญต่างๆ เช่น วงรอบเมโทนิค(Metonic Cycle) เพราะเป็นวงรอบที่บ่งบอกตำแหน่งของอาทิตย์กับจันทร์ จะมาอยู่ในตำแหน่งเดิม เราก็จะได้ Pattern ของอาทิตย์-จันทร์ เหมือนเดิม แต่โครงสร้างดาวอื่นจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในทางโหราศาสตร์เราจะใช้วงรอบไหน ก็ต้องพิสูจน์จากโครงสร้างสำคัญว่าอันไหนตอบโจทย์ได้มากกว่ากัน
ปล. เรื่องปฏิทินนี่ ของฝรั่งก็มีแบบ จูเลียน กับ เกรเกอเรี่ยน อีกที่ต่างกัน จึงต้องระมัดระวังว่าข้อมูลที่ได้เป็นจูเลี่ยนหรือเกรเกอเรี่ยน แต่เท่าที่ตรวจสอบดูใน Solarfire จะเป็น จูเลี่ยน
|
|