คณิตคิดสนุก ในทฤษฎีพระเคราะห์สนธิ ตอน 1 | โพสต์ 28 ส.ค.56 11:04 น. : อ่าน 16683 |
ในระยะหลังนี้ข้าพเจ้าได้บันทึกข้อมูลสั้นๆที่เก็บตกได้จากในเวบ ในกระทู้ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระเคราะห์สนธิ ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน เป็นเรื่องของหลักคิด มุมมองต่างๆ และคณิตศาสตร์ที่นำมาใช้ในการถอดสมการ ทำความเข้ากับทฤษฎีพระเคราะห์สนธิ ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน จึงขอนำมาเล่าให้ฟังเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งหลายท่านคงทราบดีอยู่แล้วก็อย่าว่ากันนะครับที่จะนำมาฉายซ้ำ และต้องบอกก่อนด้วยนะว่าบางอย่างเป็นมุมมองจากความคิดเห็นส่วนตัว ดังนั้น โปรดใช้วิจารณาญาณในการนำไปใช้และการอ้างอิงใดๆ
1. จุดอิทธิพลมีแต่ A/B และ A+B-C
หลักคิดสำคัญที่ Alfred Witte พัฒนามาจากโหราศาสตร์ดั้งเดิม โดยใช้คุณสมบัติของรังสีมาใช้ทำให้เกิดมุมมองใหม่ว่าด้วย จุดกึ่งกลาง และ จุดสะท้อน
จุดกึ่งกลาง เรียกว่า ศูนย์รังสี Midpoint หรือ Half Sum เป็นที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนนัก คือจุดคำนวณซึ่งอยู่กึ่งกลางของปัจจัยทางโหราศาสตร์ 2 ปัจจัย แต่อาจมีข้อแตกต่างกันในการหาจุดดังกล่าวโดยวิธีการหมุนจานคำนวณ หรือใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ เพราะหากเราใช้จานคำนวณเราย่อมกำหนดจุด Midpoint (A/B) ไว้ในด้านที่ ง่ามมุมของ A กับ B ใกล้กัน แต่หากเราใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์โดยนำค่าองศาของ A มาบวกกับค่าองศาของ B แล้วหารด้วย 2 (Half Sum) ผลลัพธ์ที่ได้อาจทำให้จุดกึ่งกลางดังกล่าวอยู่ตรงข้าม(เล็ง)กับ Midpoint ที่ได้จากการหมุนจานคำนวณ ยกตัวอย่างดังภาพ
จากภาพ ผลคำนวณของ VE/MA=212:31 โดยใช้สูตรคำนวณคือ A+B แล้วหารด้วย 2 หรือเรียกว่า Half Sum ซึ่งผลลัพท์ที่ได้น่าจะถือว่าไม่ถูกต้องเสียทีเดียว นี่คือความต่างของ Midpoint กับ Half Sum พึงเลือกพิจารณาตามความเหมาะสมด้วย เพราะบางกรณีอาจจะอยู่ในตำแหน่งราศีหรือเรือนชะตาตรงกันข้ามกัน แต่หากพิจารณาในเชิงของทฤษฎีพระเคราะห์สนธิ จะไม่แตกต่างกันมากนัก ในมุมกุมหรือเล็งกัน ย่อมให้ผลแรงในการพยากรณ์ทั้งสิ้น
แต่สำหรับในการกรณีของจุดอิทธิพลอื่นๆ อาจจะพิจารณาได้หลายประเด็น
ก) จุดอิทธิพลมีเพียง A+B-C เท๋านั้น
ว่ากันว่าจุดอิทธิพลประเภท A+B-C นั้น Alfred Witte พัฒนามาจากจุดอาระเบียนในโหราศาสตร์ดังเดิม ซึ่งก็ใช้ A+B-C เช่นกัน ซึ่งก็คงเป็นเช่นนั้น แต่ Witte ซึ่งมีความเข้าใจในเรื่องรังสี มุม หรือ ฮาร์โมนิค ได้สังเคราะห์จนสามารถเข้าใจถึงหลักคิดจนได้เป็น สัจจะสูตรคือ จุดกึ่งกลาง และกฎการสะท้อน นั่นเอง
การสร้างจุดอิทธิพล A+B-C โดยใช้จานคำนวณ เริ่มต้นจากการหมุนจานเพื่อหาตำแหน่ง Midpoint A/B ขึ้นมาก่อน จากนั้นพิจารณาจากตำแหน่งของ C โดยที่ตำแหน่งของจุด A+B-C จะอยู่ตรงจุดที่อยู่ตรงข้ามกับตำแหน่งของ C เมื่อพิจารณาให้ A/B เป็นแกนของการสะท้อนตามภาพ
หากใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ คือ การเอาค่าองศาของ A บวกค่าองศาของ B แล้วลบด้วยค่าองศาของ C โดยหากผลลัพท์ที่ได้มีค่าเกินกว่า 360 องศาก็ให้ลบด้วย 360 องศาอีกที หรือ หากมีค่าติดลบก็ให้บวกด้วย 360 องศา จึงจะได้ตำแหน่งของ A+B-C
ถึงตรงนี้จึงได้ความรู้ว่า คณิตศาสตร์ในพระเคราะห์สนธิ มีหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งคือ ผลที่ได้จากการคำนวณจะต้องมีค่าเป็นบวกที่ไม่เกิน 360 องศา เพราะมันเป็นเรื่องของวงกลม นั่นเอง
จะเห็นได้ว่า Witte นำจุดอิทธิพลแบบดั้งเดิมมาใช้อย่างมีที่มาที่ไป มิใช่เพียงแค่ เอาค่าองศามาบวก ลบ คูณ หาร เท่านั้น เราจึงไม่สามารถที่จะสร้างจุดอะไรก็ได้ด้วยการบวก ลบ คูณ หาร แล้วนำมาใช้ได้เลย จะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ 2 ข้อไว้ด้วยคือ จุดกึ่งกลางและจุดสะท้อน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงอยากพูดว่า ความจริงมีเพียงหนึ่ง คือ A+B-C เท่านั้น
|
|
ระบบเรือนชะตา ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน | การพยากรณ์จร ด้วยโค้งจันทรยาตร์ |
คณิตคิดสนุก ในทฤษฎีพระเคราะห์สนธิ ตอน 3 | คณิตคิดสนุก ในทฤษฎีพระเคราะห์สนธิ ตอน 2 |
คณิตคิดสนุก ในทฤษฎีพระเคราะห์สนธิ ตอน 1 | ความหมายดาวและปัจจัยต่างๆ |